วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บทที่ 8 การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม

รายงานบทความที่ 8 การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม

เสนอ
อาจารย์สุวรรณี ล้านศรี
มหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย แปซิฟิก

สังคมทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมพัฒนาแล้วหรือสังคมที่กำลังพัฒนาย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นเราไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ที่ไหน อย่างไร มีขอบเขตการเปลี่ยนแปลงขนาดไหน การเปลี่ยนแปลงชั่วคราวหรือถาวร และไม่อาจทราบด้วยว่าผลของการเปลี่ยนแปลงจะออกมาเป็นอย่างไร เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง
การเปลี่ยนแปลงมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ เวลา การเปลี่ยนแปลงเป็นการเปลี่ยนสภาพจากที่เป็นอยู่ไปสู่อีกสภาพหนึ่ง ปกติเมื่อเราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเรามักจะคิดถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ซึ่งทั้งสังคมและวัฒนธรรมเปรียบเสมือนสิ่งที่มักจะไปคู่กันเสมอ เมื่อสังคมเปลี่ยนวัฒนธรรมก็เปลี่ยนตามไปด้วย หรือเมื่อวัฒนธรรมเปลี่ยนสังคมก็เปลี่ยนตามไปด้วยเช่นกัน ฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะแยกสังคมออกจากวัฒนธรรมหรือวัฒนธรรมแยกออกจากสังคม
สังคมและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนในสังคม เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมก็ย่อมมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความหมายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ความหมายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ได้มีนักสังคมวิทยาให้ความหมายไว้มากมาย ในที่นี้ขอยกมากล่าวเพียงบางส่วน ดังนี้
พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2532 : 237) ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมว่า การที่ระบบสังคม กระบวนการ แบบอย่างหรือรูปแบบทางสังคม
Henry Pratt Fairchild (อ้างในชุดา จิตพิทักษ์, 2528 : 159) ให้คำจำกัดความการเปลี่ยนแปลงทางสังคมว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นลักษณะหนึ่งของกระบวนการ แบบแผนหรือรูปแบบสังคมซึ่งมีการผันแปรไปหรือมีการเปลี่ยนแปลงไป เป็นคำศัพท์รวมหมายถึงผลของการเปลี่ยนแปลงทุก ๆ อย่างของกระบวนการทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจก้าวหน้าหรือถอยหลังก็ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรหรือชั่วคราว มีการวางแผนการไว้ หรือเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีแผนการ เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวหรือหลายทิศทาง อาจก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษก็ได้
Kingsley Davis (อ้างในชุดา จิตพิทักษ์, 2528 : 160) ให้คำจำกัดความการเปลี่ยนแปลงทางสังคมว่า หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบสังคม กล่าวคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างและหน้าที่ของสังคม ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจึงเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
Wilbert E. Moore (อ้างในบุญเดิม พันรอบ, 2528 : 218) กล่าวไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคม หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญประการแรก คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม เปลี่ยนแปลงแบบแผนการกระทำทางสังคมรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมและผลที่เกิดจากความสัมพันธ์นั้นด้วย ประการที่สอง หมายถึง การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคม
Henry M. Johnson (อ้างในบุญเดิม พันรอบ, 2528 : 218) กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมมีผลกระทบต่อหน้าที่ ๆ ต่าง ๆ ของสิ่งต่าง ๆ ในสังคม ผลกระทบนั้นอาจทำให้สภาพสังคมดีขึ้นหรือเสื่อมโทรมลงก็ได้ ถ้าต้องการให้สังคมคงอยู่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและสถาบันใหม่ให้ดีขึ้น
นิเทศ ตินณะกุล (2551 : 9) ได้กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมหมายถึง การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมหรือของรูปแบบของความสัมพันธ์และการปะทะสัมพันธ์กันทางสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับบทบาท ระเบียบแบบแผนค่านิยมและวัฒนธรรม
ผจงจิตต์ อธิคมนันทะ(2541 : 21) ได้กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หมายถึงการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของสังคม โครงสร้างสังคมนั้นประกอบด้วยกลุ่มคน ความสัมพันธ์และสถาบัน คือเป็นการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคน การเปลี่ยนแปลงในด้านนี้หมายถึง การเปลี่ยนแปลงในอัตราการเกิด อัตราการตาย การกระจายตัวของประชากร การอพยพเคลื่อนย้าย เพราะกลุ่มคนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจะมีผลต่อสังคมเสมอ
วัชรา คลายนาทร (2530 : 184) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หมายถึง การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสังคมและระบบความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในสังคม
ความหมายของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
ความหมายของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ได้มีนักสังคมวิทยาให้ความหมายไว้ ดังนี้
พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2532 : 99) ได้อธิบายไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมของประชาชาติหนึ่ง ๆ ทั้งวัฒนธรรมทางวัตถุและวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมสองประเภทนี้เป็นไปไม่เท่ากัน โดยทั่วไป วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุเปลี่ยนแปลงช้ากว่า นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงอาจจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติหรือโดยการวางแผนก็ได้
วัชรา คลายนาทร (2530 : 184) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม หมายถึง การเปลี่ยนแปลงในด้านความรู้ สิ่งประดิษฐ์ของสังคมทั้งที่เป็นวัตถุและไม่ใช่วัตถุ

จัดทำโดย

นายณฐฤทธิ์ วิระชะนัง 201010204
มหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย แปซิฟิก
นายเชิดชัย วัจนะผาสุข 201000138
มหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย แปซิฟิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น